เอาเงินของเอ็ง คืนไป...เถอะ
ผู้เข้าชมรวม
112
ผู้เข้าชมเดือนนี้
0
ผู้เข้าชมรวม
เอาเงินของเอ็ง คืนไป…เถอะ
ผมมีความใฝ่ฝัน ที่จะเป็นนักข่าวมา ตั้งแต่ยังเยาว์วัย การที่ผมได้มาที่ร้าน จิตติการพิมพ์ ซึ่งจำหน่ายหนังสือพิมพ์ นิตยสาร เกือบทุกวัน ทำให้ผม ได้หยิบจับเอกสาร หนังสือ ที่ร้านจำหน่าย ได้ตามอำเภอใจ ผมจะต้องแวะซื้อนิตยสารมวยให้พ่อ โดยในวันจันทร์ ผมต้องซื้อ นิตยสารเกี่ยวกับวงการมวย ชื่อ เดอะริง วันอังคาร ซื้อ นิตยสารมวย บ๊อกซิ่ง และวันพุธ ซื้อไฟต์ดิ้ง วันพฤหัส และศุกร์ ผมจะแวะหาซื้อหนังสือ ที่สนใจ อาทิ ชัยพฤกษ์ ฃัยพฤกษ์การตูน ของเครือไทยวัฒนาพาณิชย์
คงพูดได้ว่า ในวัยเด็ก ผมน่าจะเป็นคนที่รักการอ่านมากกว่าใครๆ ในกลุ่มเพื่อน และพี่น้อง ที่ห้องสมุดโรงเรียน ร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านกาแฟ ร้านตัดผม และเพื่อนบ้านที่รับหนังสือพิมพ์มาอ่าน ผมจะไม่พลาดไปนั่งอ่าน หรือรอคิวการอ่านหนังสือพิมพ์ และรออ่านนิตยสาร บางกอก จาก ร้านตัดผม ..... ร้านถนอมเกษา คือ บ้านที่ผมเข้าออกบ่อยที่สุด เป็นเพราะน้าถนอม (หนอม) เป็นคนโสด ที่ใจดี อยู่ตัวคนเดียว เขาจึงไม่มีภาระ ยามว่างที่น้าหนอมไม่มีลูกค้า เขาจะหยิบหนังสือ ที่รับเป็นประจำ ไปนั่งหรือเอนตัวนอน ที่เก้าอี้ตัดผม อย่างสบายใจ จริงๆ ก่อนหน้า น้าหนอม เปิดร้านตัดผม ตรงใกล้บ้านลุงชิต เจ้าของ โรงสีข้าว ต่อมาได้ย้ายมาเช่าเยื้องๆ หน้าบ้านผม
เจ้าของร้านจิตติการพิมพ์ เป็นตัวแทน จำหน่ายหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หนังสือแบบเรียน และหนังสือทั่วไป เขาจึงมีความเข้าใจ กับสิ่งที่คุ้นเคยเป็นประจำ เขาเคยโทรศัพท์รายงานข่าวให้หนังสือพิมพ์ส่วนกลาง ต่อมาหนังสือพิมพ์ หัวเขียว จึงให้เขา เข้าอบรมการเป็นนักข่าวและในที่สุด เขาก็ได้เป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าว ประจำอำเภอ น้าจิตติ ที่ผมรู้จัก เป็นคนหน้าตาดี เป็นที่รักของคนทั่วไป ผมรู้จักกับเขาในฐานะลูกค้ากับผู้ขายเท่านั้น เวลาเกิดเหตุการณ์ใดๆ ในอำเภอหรือแนวชายแดนไทย กัมพูชา น้าจิตติ จะโทรเลข ส่งข่าวไปที่ หนังสือพิมพ์หัวเขียว บ่อยๆ ครั้ง ที่ผมไปธุระที่องค์การโทรศัพท์ (ชุมสาย อรัญ) จะเจอน้าจิตติ กำลังคุยรายงานข่าวให้สำนักพิมพ์ หนังสือพิมพ์
“เรียน บอ.กอข่าว ผม..นายจิตติ นักข่าวท้องถิ่น ขอรายงานข่าว ให้ทราบ มีดังนี้ครับ เหตุการณ์เกิดขั้น เมื่อวันอังคารที่ 19 สิงหาคม 2518 เวลา 18.00 น กองทัพเขมรแดง ได้ยิงระเบิด อาร์ พี. จี เข้ามายังแนวชายแดนไทย ด้าน ตำบลบ้านบ่อไร่ อำเภออรัญประเทศ จำนวนแปดลูก ทหาร และตำรวจตระเวน ชายแดน ได้ผลักดัน และยิงระเบิด บอกเตือนให้ทางฝ่ายเขมรแดงได้รับรู้ ประชาชน ต่างพากันเข้าหลบในหลุมที่หลบภัย ที่ทางการจัดทำให้ ทุกคนปลอดภัย”
ผมยืนฟังอย่างตั้งใจ..จริงๆ แล้วการใช้โทรศัพท์ในอดีตที่ผ่านมา จะมีการให้บริการกับประชาชนที่จำเป็นต้องสื่อสาร เพื่อติดต่อการค้า ระหว่างจังหวัด หรือเพื่อคุยสื่อสาร กับเพื่อนหรือญาติ การใช้โทรศัพท์ช่วงตั้งแต่สองทุ่มขึ้นไป ราคาจะถูกกว่าในช่วงเวลาเช้า-จนถึงสองทุ่ม ผมจะแวะมาที่ชุมสาย เฉลี่ยสัปดาห์ละสองครั้งเพื่อสั่งสินค้าจากกรุงเทพให้จัดส่งมาที่บ้าน น้าจิตติ ถือเป็นบุคคล ที่ผมแอบชื่นชอบในความสามารถของเขา โดยไต่เต้ามา จากเด็กส่งหนังสือพิมพ์ ที่จังหวัดปราจีนบุรี ผันตัวมาเป็นตัวแทนจำหน่ายหนังสือพิมพ์ และได้มาเป็นนักข่าวที่ได้รับรางวัลข่าวภาคสงคราม ที่ต้องเสี่ยงภัย สามปีซ้อน
ผมเริ่มจับงานเขียนให้กลุ่มเพื่อนๆ ในหนังสือ ดาวทอง จนเกือบเกิดปัญหา เพราะใช้ปากกาเขียนเสียดสีเพื่อน จนครูฝ่ายปกครองเรียกไปเตือน ช่วงที่ผมเรียนมัธยมปลาย ที่โรงเรียนวัดราชาธิวาส ผม เคยส่งเรียงความเข้าประกวดจนได้รับรางวัลชมเชย นานๆ ครั้งที่กลับมาบ้านเกิด ได้แวะเวียนไปหาซื้อหนังสือมาอ่านเช่นเคย พ่อจะอ่านหนังสือพิมพ์วันละสองฉบับ และจะรับหนังสือรายสัปดาห์ เกี่ยวกับการเมือง อีกหนึ่งฉบับ ช่วงผมเรียนคณะเกษตร ผมมีโอกาสได้มาช่วยบรรณารักษ์ทำงาน และมีโอกาสหยิบยืมหนังสือไปอ่านที่หอพักและบ้านพัก แบบไม่อั้น เป็นเพราะยามว่าง ผมมักจะไปช่วยพี่จรวย ในการเปิดปิดห้องสมุด จัดเก็บหนังสือ และให้บริการนักศึกษาให้ยืมและรับคืนหนังสือ พูดได้ว่า ตั้งแต่เรียน ชั้นประถมจนเรียนระดับปริญญาโท และมาทำงาน จะอยู่กับหนังสือและห้องสมุดอย่างต่อเนื่องและตลอดเวลา
“อาจารย์ ขลุ่ย มีหัวหน้าประชาสัมพันธ์ของจังหวัด มาขอพบ เพื่อยืมรายงานการวิจัยของอาจารย์ไปใช้อ้างอิง เขาเขียนจดหมาย ฝากไว้น่ะ” อาจารย์คนหนึ่ง พูดกับผม
“ขอบคุณครับพี่ พอดีผมเข้าไปธุระในเมือง คงสวนทางกันพอดี น่ะครับ เดี๋ยวผมจะโทรไปหาเขาเลยครับ” ผมพูด
หลังจากอ่านจดหมายแล้ว ผมจึงได้โทรไปที่สำนักงานประชาสัมพันธ์ หลังจากได้พูดคุยแล้ว จึงนัดพบกัน ผมได้นำหนังสือที่ผมทำวิจัยไปให้เขา ที่ศาลากลาง และทำความรู้จักจนในที่สุดผมก็สนิทกับเขา
“อาจารย์ พอดี ..ทางจังหวัดได้แต่งตั้งให้ ผมเป็นกรรมการ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ของจังหวัด ในงานโครงการพระราชดำริ ยังไงถ้าพอจะมีเวลา ลองมาร่วมงานกับผมนะ” หัวหน้า ปชส. พูด
“ครับ ยินดีครับ เพื่อส่วนรวมและเป็นงานที่จะช่วยพัฒนาความเจริญ ให้ทางจังหวัด และอีกอย่างเป็นงานพระราชดำริ ผมยินดีและเต็มใจที่จะช่วยและให้ความร่วมมือ เต็มที่เลยครับ” ผมพูด
“วันเสาร์ ที่จะถึงนี้ เราจะไปที่หมู่บ้าน ท่าเกิน หมู่บ้านแม่พาน เพื่อไปทำความเข้าใจกับประชาชน มีสื่อมวลชน ร่วมไปกับเราอีก สิบคน”
“ครับ ผมว่าง แล้วจะให้ผมรอที่ไหน”
“เอางี้นะ อาจารย์รอ ตรงสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย”
“ได้ครับ”
เมื่อถึงเวลานัดหมาย ในวันเสาร์ ถัดมา คณะทำงานด้านการประชาสัมพันธ์ ก็มุ่งหน้าสู่วัดบ้านท่าเกวียน โดบมีประชาชนทั้งสามหมู่บ้าน ที่จะมีผลกระทบต่อการสร้างอ่างเก็บน้ำ ซึ่งถูกเวนคืนที่ดิน และอาจจะต้องถูกอพยพย้ายถิ่น ไปอยู่ผืนดิน ที่ทางการจัดให้ ใหม่
“สวัสดี พ่อแม่ พี่น้องชาวบ้านท่าเกิน บ้านแม่พุ และบ้านหอรัก ผมในนามคณะทำงานด้านการประชาสัมพันธ์ ใคร่ขอเรียนชี้แจงเกี่ยวกับโครงการพระราชดำริ ที่จะมีการดำเนิน การก่อสร้าง ซึ่งแน่นอนว่าการก่อสร้าง ย่อมมีผลกระทบต่อชีวิตและครอบครัวของท่าน หลายร้อยครอบครัว แต่หากพวกท่าน คำนึงถึงประโยชน์ในภายภาคหน้า แน่นอนว่ามันคุ้มค่ามหาศาล จึงอยากให้พวกท่านโปรด ยินยอมพร้อมใจ และเลิกต่อต้านกับการบริหารโครงการดังกล่าว”
ผมกับนักข่าว ได้ยืนฟังและสังเกตปฏิกิริยา ของชาวบ้านกลุ่มหนึ่ง แน่นอนว่า มีชาวบ้านกว่าสิบครอบครัว พยายามที่แสดงความคิดเห็นต่อต้าน ที่จะไม่ให้ชลประทาน ดำเนินงานต่อ นักข่าวจากช่องหนึ่ง คือ พี่เชาว์ ได้พยายามโน้มน้าว ชาวบ้านกลุ่มนั้น เพื่อให้เห็นคงประโยชน์ โดยรวม จากที่พวกเขาแข็งกร้าว ก็ยอมลดท่าทีลง หัวหน้าประชาสัมพันธ์ ได้แนะนำผมให้ผู้สื่อข่าวได้รู้จัก
“นี่อาจารย์ขลุ่ย ครับ... เขามาช่วยงานผม เกี่ยวกับงานด้านมวลชน และจะมาดำเนิน งานทางวิชาการเกี่ยวกับการวิจัยให้ทุกๆ หน่วยงาน รับทราบถึงปัญหาต่างๆ” หัวหน้าพูด
ส่วนใหญ่เกือบทุกวันหยุดราชการ ผมจะออกไปช่วยทำงานกับหัวหน้าประชาสัมพันธ์ พร้อมกับลูกน้องของเขาอีกสามคนเสมอ และหลายครั้งๆ ผมได้พบกับพี่เชาว์ นักข่าวทีวี ติดตามไปทำข่าว
“สวัสดีครับ พี่เชาว์” ผมทักทายเขาเนื่องจากเรา เริ่มคุ้นเคยกัน
“อาจารย์ มาทุกครั้งเลยหรือครับ”
“ส่วนใหญ่ครับ พี่ บางครั้งมีงานในสถาบันก็ไม่ได้มา”
ตลอดสามปีที่ผมไปช่วยงานโครงการพระราชดำริ ผมได้เคยนำนักศึกษาไปช่วยงานเป็นระยะๆ และได้พบเห็นพี่เชาวน์มาทำข่าว เพื่อเผยแพร่ข่าวทางโทรทัศน์ เกี่ยวกับความคืบหน้าในการสร้างอาบเก็บน้ำ เนื่องในพระราชดำริ หลังจากโครงการพระราชดำริเสร็จสิ้นลงแล้ว ผมก็ยังคงไปเยี่ยมเยียนสำนักงานประชาสัมพันธ์ พูดได้ว่าตลอดระยะ เวลาสามปี ที่ผมได้ร่วมงานกับหัวหน้าประชาสัมพันธ์ ผมไม่เคยปริปากบ่น ท้อถอย หรือเรียกร้องค่าน้ำมันรถ หรืออื่นใดเลย
“หัวหน้าครับ ผมเจอพี่เชาว์ เขาชักชวนผมเข้าร่วมทำงานหนังสือพิมพ์กับเขา ครับ” ผมพูด เพื่อขอความเห็น
“คิดให้ดีนะอาจารย์” หัวหน้า ปชส. พูด
“เพราะอะไรหรือครับ”
“ผมมองว่า มันสุ่มเสี่ยงนะ”
“ผมอยากจะทำงานด้าน สื่อสารมวลชน เพื่อช่วยเป็นปากเสียงให้ประชาชน มี ความโปร่งใส และมีคุณธรรม น่ะครับ หัวหน้า” ผมพูด
“ผมไม่มั่นใจ ว่าเชาว์ เขาจะเป็นคนอย่างนั้น” หัวหน้าพูด
“เท่าที่ผมรู้จักกับพี่เชาว์ เขาก็เป็นนักข่าวที่ดีนะ หัวหน้า”
“ผมก็ไม่แน่ใจ เราก็รู้จักกัน แค่เพิ่งหน้างานหนนี้ เบื้องหลังเขาเป็นอย่างไร ผมไม่รู้” หัวหน้าตอบ
..........................................................................
ในช่วงวันหนึ่ง ที่ สส. ........มาเป็นประธานเปิดงานวันเด็กแห่งชาติ ผมได้พบกับ กรณ์ เพื่อนร่วมงานที่ช่วยทำข่าวทีวีอีกช่องหนึ่ง ซึ่งกำลังเก็บภาพกิจกรรมในงาน
“กรณ์ ช่วยทำข่าวช่องห้า อย่างนี้ มีรายได้มั้ย” ผมถาม
“ก็มีบ้าง ค่าน้ำมัน ค่าเหนื่อย สนใจมั้ย อ้อ…พอดีตอนนี้ ผมกับพี่น้อยและพี่เชาว์ กำลังหาทีมงานมาทำหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น” กรณ์พูด
“ดีเลย ผมสนใจอยู่แล้ว โดยเฉพาะพี่เชาว์ ผมก็เจอแกบ่อยๆ และเคยไปทำงานที่โครงการที่เวียงมอกด้วยกันหลายครั้ง”
“ดีเลย งั้นวันศุกร์ ตอนค่ำๆ ผมจะไปรับอาจารย์ขลุ่ยที่บ้านพัก แล้วเลยไปรับพี่น้อย เพื่อคุยเรื่องงานทำหนังสือพิมพ์”
เมื่อถึงวันนัดหมาย ปกรณ์ ได้มารับผมที่บ้านพัก ริมสระน้ำ จากนั้นแวะมารับพี่น้อย ซึ่งเป็นชาวบ้านธรรมดา ที่ผมเคยเห็นเขาหลายครั้ง แต่ไม่คุ้นเคย
“น้อย... นี่อาจารย์ ขลุ่ย” กรณ์แนะนำผม ให้พี่น้อยรู้จัก
“หวัดดีครับ ..อาจารย์” พี่น้อยทักทาย
…………………………………………………………
เมื่อนั่งรถแล้วพวกเราก็มุ่งหน้ามาที่ทำการ ทำหนังสือพิมพ์และข่าวทีวีช่องหนึ่ง เรานั่งประชุมเพื่อหารือวางแผนการทำงานร่วมกัน ผมได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ บ.ก. ด้านมวลชน เป็นเพราะพี่เชาว์ เคยเห็นผมทำงานร่วมกับทางจังหวัดบ่อยๆ ปกรณ์ รับหน้าที่เป็นหัวหน้าข่าว ส่วนพี่น้อยทำหน้าที่ ประจำกองบรรณาธิการ และเป็นนักข่าว ด้วย เราตกลงและจะร่วมมือกันทำความจริงให้ปรากฏ และมีจุดยืนในอุดมการณ์เดียวกัน คือจะทำหน้าที่ เป็นปากเสียงให้ประชาชน ซื่อสัตย์ ถือหลักคุณธรรม
แน่นอนว่า..การทำหนังสือพิมพ์ ที่ขาดนายทุนและขาดสปอนเซอร์ในการโฆษณาช่วยเหลือย่อมเหน็ดเหนื่อยกว่า ฉบับที่เคยทำมาก่อน ผมกับ ปกรณ์ ต้องวิ่งหาสปอนเซอร์มาเป็นทุนในการดำเนินการ ต้องทำข่าว ต้องมาวางดรัมมี่ เพื่อทำการพาดหัวข่าว ต้องมาพิมพ์ข่าว เขียนบทความทั้งสังคม เศรษฐกิจและการเมือง สำหรับพี่น้อยเน้นไปกับการทำข่าวอาชญากรรม ข่าวชาวบ้าน พี่เชาว์ มาร่วมช่วยคัดข่าว ที่น่าสนใจ ที่คิดว่า ประชาชนจะให้ความสนใจ ฉบับแรกที่ผมได้เข้ามาร่วมทำ และวางตลาด จากยอดที่เคยพิมพ์ 500 ฉบับ ขายหมดเกลี้ยง ในฐานะที่ผมเป็นบรรณาธิการบริหาร ได้ตั้งเป้าว่าจะเพิ่มยอดการพิมพ์ให้ถึงครั้งละสองพันฉบับให้ได้ จากยอดขายที่ดีวัน ดีคืน ทำให้ผมกับคณะทำงาน มีกำลังใจและมีพลังที่จะทำงานต่อไป หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ฉบับอื่น เริ่มหวั่นไหว ยอดขายของเขาคงที่และบางฉบับยอดขายลดลง
การทำงานหนังสือที่ผมรับผิดชอบเป็นบรรณาธิการบริหาร....... มีแนวโน้มที่ดีมากขึ้น ยอดพิมพ์แตะถึง 1500 ฉบับ ผมแทบจะไม่มีเวลาพักผ่อน กิจการที่เคยขาดทุน เริ่มดีขึ้น ก่อนหน้าไม่ค่อยมีโฆษณาจึงขาดทุน แต่ละครั้งการพิมพ์หนังสือพิมพ์ จะมีต้นทุนอยู่ที่ ฉบับละสิบสองบาท เมื่อหนังสือพิมพ์เริ่มมีผู้อ่านมากขึ้น การโฆษณาจึงเริ่มดีขึ้นๆ ภาวะการณ์ขาดทุนจึงลดลงและไม่มีอีก เป็นเรื่องที่แปลกมาก ที่แรกๆ ผมมองว่าพี่เชาว์ เป็นคนใจสปอร์ต ใจนักเลง แต่พอทำงานร่วมกันได้เพียงสี่เดือน จึงได้เริ่มรู้ธาตุแท้ ในตัวเขา
“ไอ้น้อย .มึงไปทำข่าว ก็ห่อข้าวไปกินด้วยสิวะ... ไอ้ห่า กูไปทำข่าวที่ไหน กูยังห่อไปกินด้วยเลย” พี่เชาว์ว่า
ผมได้รับรู้ และเห็นพฤติกรรมของพี่เชาว์แล้ว รู้สึกผิดหวัง สิ่งที่เคยเห็นว่าเขาเป็นคนซื่อสัตย์ เป็นคนใจสปอร์ต เป็นคนสุขุม เป็นคนมีเหตุผล เป็นคนมีคุณธรรม มันเป็นภาพมายา หาเป็นพฤติกรรมของตัวตนเขาจริงๆ ไม่
“ปกรณ์ ผมว่า ผมคงทำงานร่วมกับพี่เชาว์ ได้ไม่นานหรอกนะ” ผมปรารภกับเพื่อนร่วมทุกข์
“อดทนอีกหน่อย ไหนๆ เราก็ร่วมหัวจมท้ายแล้ว ก็ทำให้มันผ่านวิกฤต มรสุม” ปกรณ์พูด
“ได้.. ผมจะอดทนอีกสักระยะ” ผมพูด
สิ่งที่เคยนับถือ ศรัทธา ในตัวเขา เริ่มจืดจาง… รายจ่ายทุกอย่าง ที่เป็นเงินเดือน ผมต้องเจียดมาช่วยพี่น้อย เป็นค่าน้ำมัน เวลาไปทำข่าว ด้วยกัน ผมต้องควักจ่าย ตลอด แทนที่พี่เชาว์ จะต้องจ่าย ผมเคยคุยกับพี่น้อย และปกรณ์ว่า หนังสือฉบับนี้ ผมคงจะทำไปอีกสักระยะหนึ่งหากครบรอบหนึ่งปี ผมคงขอวางมือแล้ว
“สปอนเซอร์ก็เข้ามาเยอะนะ.. จารย์ ขลุ่ย แต่ทำไมพี่เชาว์ ไม่แบ่งมาให้พวกเราใช้บ้าง” พี่น้อยพูด
“ใช่ .. ผมเห็นด้วย” ผมพูด
“โน่น.. พี่แอร์ เมียพี่เชาว์ แกถอยป้ายแดงเลย จารย์ขลุ่ย” ปกรณ์พูด
“คงเงินเมีย แกนะ เข้าใจว่าพี่แอร์ คงขายที่ดิน ” พี่น้อยพูด
“เราต้องว่าไปตามจริง.. เนี้ยะ..ดูสิ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจใหญ่ให้สปอนเซอร์ ครึ่งหน้า นี่ก็ห้าหมื่นแล้ว มีหลายเจ้าเสียด้วยนะ ฉบับหนึ่งได้เป็นแสนๆ ค่าโฆษณา แกงุบงิบเฉยเลย” ปกรณ์พูด
ดูเหมือนว่าเราสามคน ไม่ค่อยจะชื่นชอบกับ ความไม่ซื่อตรงของพี่เชาว์ และพี่แอร์ ที่ตุกติกและเอารัดเอาเปรียบพวกเรา ที่ทุ่มเททั้งกาย-ใจและทุนทรัพย์ ผมไม่ค่อย จะซีเรียสกับเรื่องนี้ ด้วยจิตวิญญาณ ที่ต้องการมาทำงานสื่อมวลชนที่ มิได้มุ่งหวังกับลาภ สักการะ เงิน เลยสักนิด
………………………………………………………
วันครบรอบปีหนังสือพิมพ์ .. ใกล้มาถึง เราทุกคนเตรียมวางแผน การทำงานเพื่อเชิญข้าราชการคนสำคัญ หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ พ่อค้า คหบดี นักธุรกิจ คนดังของจังหวัด ผมตั้งใจ ว่าในโอกาสครบรอบปี ผมต้องวางมืออย่างแน่นอน เพราะทุกอย่าง มันสุกงอมหมดแล้ว แต่ยังไม่ได้เปิดเผยและ ระแคะระคายให้พี่เชาว์ และพี่แอร์ทราบ คิดว่าหลังเสร็จงานครบรอบหนังสือพิมพ์จึงจะบอก
..............................................................................................................
ในวันงานครบรอบหนังสือพิมพ์ ..มาถึง
ผมต้องมายืนคอยต้อนรับแขกทุกระดับ ส่วน พี่เชาว์ และพี่แอร์ ยืนภายในสำนักงาน คอยรับแขกวีไอพี ซึ่งมี ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ผู้กำกับ ฯลฯ ผมแทบไม่มีเวลาที่จะดื่มน้ำ ผมต้องเชิญแขกเข้าประจำที่. แต่ตัวเอง ยังต้องมาคอยกำกับให้พิธีกรที่เชิญมา ให้ทำหน้าที่ตามสคริปต์ ที่กำหนด อาหารที่จ้างแม่ครัวมาดำเนินการ แทบจะไม่พอรับแขก ผมปิติ ยินดี ที่งานวันนี้ราบรื่นและใหญ่โตพอประมาณ แม้ผมจะไม่ได้กินอาหารเลยสักนิด แต่ก็ไม่ถึงกับหิว
เมื่อแขกกลับหมดแล้วพี่แอร์ กับพี่เชาว์ มาเปิดซองที่แขกผู้มีเกียรติมามอบให้ เงินที่ผู้มาร่วมช่วยงานวันนี้ มีจำนวนเกินกว่า ห้าแสนบาท ดูเหมือนทั้งสองสามี ภริยา ยิ้มแต้อย่างมีความสุข
“พี่เชาว์ งานเสร็จด้วยดี แล้วนะ ผมขอตัวกลับบ้านก่อน วันนี้เหนื่อยเลย... ครับ” ผมพูด
“เอานี่ จารย์ ผมต้องขอบคุณอาจารย์มาก ที่ช่วยงานจนสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี... นี่ครับน้ำใจ จากผม”
พี่เชาว์ ยื่นซองให้ผม ผมรับไว้ เหตุผลที่รับเพราะคิดว่า การทำงานที่ผ่านมา ผมมีรายจ่ายมากมาย ตั้งแต่ค่าน้ำมันรถ ค่ากิน ค่าฟิล์มถ่ายรูป ค่าล้าง ค่าอัดขยายภาพ ค่าถ่ายเอกสาร อย่างน้อยเงินก้อนนี้ ก็ทำให้ผมต่อทุนและเป็นกำลังใจในการทำงาน
“ ผมกลับก่อนล่ะ” ผมพูด
ผมขับรถออกจากสำนักพิมพ์ จนจะถึงถนนใหญ่ ก็บังเอิญเจอน้องสาวพี่แอร์ นั่งเล่นที่ม้าหินอ่อน เขาโบกมือให้ผมจอด ผมจอดรถแล้วได้ลงไปนั่งคุยกับเขา
“งานเรียบร้อยดีเหรอ อาจารย์” น้องพี่แอร์ถาม
“เรียบร้อยดี .. เหนื่อยและร้อน มาก”
ผมนั่งคุยกับน้องสาวพี่แอร์สักห้านาที ด้วยที่อยากรู้ว่าในซองที่พี่เชาว์ให้มา จะมียอดเงินสักเท่าไหร่ จึงลองเปิดดู ผลปรากฏว่า ผมต้องช๊อค.. จนแทบหัวใจหยุดเต้น เมื่อลองนับดู มันมีธนบัตรใบละร้อยเพียง ห้าใบเท่านั้น
“ฉิบหาย ดูมันให้เรา” ผมคิดในใจ สมองสั่งการโดยพลันว่า ต้องเอาคืนให้เขาไป
การจะขับรถไปคืนให้เขาที่สำนักพิมพ์ ก็ดูแล้วไม่น่าจะดี มีทางเดียวที่ทำได้ เอาซองเงินซองนี้ฝากน้องพี่แอร์ คืนให้พี่สาวและพี่เขย เขาจะดีกว่า
“ผมรบกวนช่วยฝากซองเงินซองนี้ คืนพี่เชาว์ กับพี่แอร์ ด้วยนะ” ผมพูด
“ทำไมไม่รับล่ะคะ ตั้งห้าร้อย” ตุ๊กพูด
“โอ... ตั้งห้าร้อย มากเกินไปสำหรับผม ช่วยฝากคืนด้วย และบอกเขาด้วยว่า ขอคืนเงินให้ เพราะที่ให้มา... มันมากเกินไปสำหรับผม”
(๒๗ มีนาคม ๖๔)
เนื้อเรื่อง
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ผลงานอื่นๆ ของ ขลุ่ย บ้านข่อย ดูทั้งหมด
ผลงานอื่นๆ ของ ขลุ่ย บ้านข่อย
ความคิดเห็น